เล่าประสบการณ์การสอบ OET ครั้งแรก
สวัสดีค่ะเพื่อนๆหลายคนคงทราบว่าแอ๋มเตรียมสอบภาษาอังกฤษอยู่ โดยภาษาอังกฤษที่แอ๋มเลือกสอบในครั้งนี้คือ Occupational English Test หรือเรียกสั้นๆว่า "OET"
OET คืออะไร
OET เป็นข้อสอบที่ใช้วัดระดับทักษะความสามารถทางภาษาอังกฤษของเราเหมือนกับ IELTS, PTE, TOEFL แต่ว่าข้อสอบ OET จะเป็นข้อสอบที่มีเนื้อหาการสอบเกี่ยวกับเรื่องสูขภาพ โดยข้อสอบจะแบ่งเป็น 4 ส่วน ฟัง พูด อ่าน เขียน และยังแบ่งเป็นข้อสอบของแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ นักกายภาพบำบัด เป็นต้น
ทำไมเลือกสอบ OET
สาเหตุที่แอ๋มเลือกสอบ OET นะคะ เนื่องจากแอ๋มเคยสอบ IELTS คือยากมากในการเพิ่มคะแนนทีละ 0.5 เลยลองหาตัวอย่างข้อสอบของ PTE, IELTS, OET , TOEFL ลองทำดูแล้ว คิดว่า OET ตอบโจทย์เรามากที่สุดโดยเฉพาะพาร์ท Writing และ Speaking 2พาร์ทนี้ถือเป็นพาร์ทที่ท้าทายเรามากที่สุด เนื่องจากเราอยู่เมืองไทยการที่เราจะฝึกพูดและฝึกเขียนมันมีโอกาสน้อยมาก แต่ข้อสอบ OET ข้อสอบเขียนคือจดหมายซึ่งจดหมายจะมีหลายสถานะการณ์แล้วแต่โจทย์จะให้มา โดยทั่วไปเราอาจจะต้องเขียนจดหมายถึงสหวิชาชีพและอธิบายอัพเดทถึงอาการของคนไข้ สิ่งที่ต้องส่งต่อและดูแลต่อเนื่อง ซึ่งโดยส่วนตัวเราคิดว่าไม่ยากมากเกินความสามารถของเรานัก ในส่วนของ Speaking เขาจะให้สถานการณ์มาซึ่งเราอาจจะต้องปลอบโยนคนไข้ อธิบายคนไข้ ชักจูงคนไข้ให้เค้าทำตามคำแนะนำของเราอย่างที่บอกดูแล้วไม่ยากเกินความสามรถของเรา เราจึงเลือกสอบ OET
การเตรียมตัว
แอ๋มใช้เวลาในการเตรียมตัวสอบ 3 เดือนในการสอบครั้งแรก ซื้อเอกสารของ OETONLINE
พาร์ท Writing และ Speaking ทั้งหมดเป็นเงิน 50 AUDs ส่วน Listening กับ Reading หาข้อสอบฟรีในเนตค่ะ แอ๋มทำตารางสำหรับการฝึกภาษาอังกฤษเอาไว้ ทำได้ค่อนข้างสม่ำเสมอนะคะ แต่ว่าในช่วงเวลาของการเตรียมตัวอาจจะไม่ได้เป็นไปตามแผนทุกอย่างเนื่องจาก 1 เดือนก่อนสอบแอ๋มติดโควิดและตัวเรามีไข้อ่อนเพลียมาก ทำให้ช่วงหลังไม่ได้เตรียมตัวอ่านหนังสือเลย
การจองสอบ
เราต้องเข้าไปสร้างบัญชีที่เว็บOET เราจะต้องกรอกข้อมูลชื่อ นามสกุลของเราให้ถูกต้อง และเราต้องใช้เอกสารยืนยันตัวตนจะใช้ Passport หรือ บัตรประชาชนก็ได้ แต่วันสอบคุณต้องเอาเอกสารยืนยันตัวตนให้ตรงกับที่เราลงทะเบียนไว้ เมื่อลงทะเบียนสอบเรียบร้อยเราจึงสามารถจองสอบได้ การจองสอบต้องจองสอบล่วงหน้า 1 เดือน และเมื่อสอบเรียบร้อยแล้วผลสอบจะออกอีก 1 เดือน 1เดือนมีการสอบ 2 ครั้งสำหรับแพทย์และพยาบาล สำหรับวิชาชีพอื่นๆต้องเช็คกับทางเวบไซต์อีกทีค่ะ ค่าสอบ 587 AUDs จ่ายเป็นบัตรเครดิทหรือเดบิท
สถานที่สอบและพัก
สถานที่สอบคือ AUA ราชดำริ มีที่จอดรถฟรีหรือเราสามารถนั่งรถไฟฟ้า BTS มาลงสถานีราชดำริได้เลย โดยส่วนตัวของแอ๋มพักที่โรงแรมไอบิสสยาม(ค่าโรงแรม 900 บาทใช้สิทธิ์เราเที่ยวด้วยกัน) มีรถไฟฟ้าสถานีสนามกีฬาแห่งชาติอยู่ตรงหน้าโรงแรมเลย แอ๋มนั่งรถไฟฟ้าไปลงลงสถานีราชดำริใช้เวลาเดินทางประมาณ 15 นาทีค่ะ
การสอบ
แอ๋มจะอธิบายเป็นพาร์ทๆนะคะ
ฟัง ข้อสอบมี 3 พาร์ท พาร์ท A คือการจดโน๊ตที่หายไป พาร์ทนี้ต้องตั้งใจฟังดีๆเพราะเร็วมาก เขียนให้ใกล้เคียงคำตอบมากที่สุด พาร์ท B จะเป็นบทสนทนาระหว่างคน 2 คน เราต้องจับใจความว่าเค้าพูดถึงเรื่องอะไร พาร์ท C คือพาร์ทที่ยากที่สุด จะเป็นการพูดถึงโรคหรืองานวิจัยซึ่งจะยาวมากเราต้องตั้งใจฟังเพราะข้อสอบจะพูดรวดเดียวและให้เราหา Main Idea ของข้อสอบ
อ่าน ข้อสอบมี 3 พาร์ท พาร์ท A แอ๋มให้พาร์ทนี้ง่ายที่สุดแต่ว่าต้องอาศัยความเร็วในการอ่าน ส่วนพาร์ทที่ยากที่สุดคือพาร์ท C เราจะต้องอ่านพารากราฟและหา Main Idea ว่าผู้เขียนต้องการสื่ออะไรกับเรา ข้อสอบพาร์ทนี้แอ๋มทำไม่ทันค่ะ กามั่วไป 8 ข้อ
เขียน แอ๋มได้ข้อสอบที่ต้องเขียนไปหา GP เพื่ออัพเดทอาการของคนไข้ ตอนอ่านโจทย์อึ้งไป 10 นาที พอเริ่มเขียนได้เครื่องเริ่มเดิน แต่เอาตามตรงเขียนไม่ทันค่ะ คิดว่าเราอาจจะฝึกเขียนไม่เพียงพอ และยิ่งการเขียนเป็นส่วนที่ยากที่สุดสำหรับเรา เราไม่ได้เขียนตรงพารากราฟสิ่งที่ต้องส่งต่อและเฝ้าระวังไม่ทันในผู้ป่วยรายนี้ซึ่งเป้นพารากราฟที่สำคัญที่สุดของจดหมายฉบับนี้ คิดว่าไม่ผ่านแน่นอนตอนที่ทำข้อสอบเสร็จ
พูด แอ๋มได้มาทั้งหมด 2 บทบาทสมมุติ ซึ่งตอนที่เห็นข้อสอบไม่ได้ยากอย่างที่คิดโจทย์ที่เราได้รับคล้ายๆโจทย์ที่เราฝึกอยู่ แต่ว่าเราตื่นเต้นจนพูดผิดจากที่เราได้ซ้อมไว้ สอบเสร็จก็คิดว่าไม่ผ่านเช่นกัน
ผลสอบ
ฟัง 350 อ่าน 330 เขียน 300 พูด 300
คะแนนในส่วนของพาร์ทเขียนและพูด คือคะแนนที่ผิดคาดค่ะ คิดว่ายังไงก็ไม่ผ่านและได้คะแนนประมาณ D เพราะเราฝึกทำข้อสอบน้อย แต่คะแนนสูงกว่าที่เราคิดไว้ค่ะ
การอ่านหนังสือสอบ
สำหรับคนที่มีเวลาเราคิดว่าสามารถอ่านหนังสือสอบเองได้ค่ะ เพียงแต่ต้องใช้สมาธิและความตั้งใจมากหน่อย สำหรับรอบหน้าเราคิดว่าคงจะลงติวข้อสอบเพราะว่าเราไม่ค่อยมีเวลาและเราอยากให้สอบผ่านไวๆเพราะว่าตอนนี้วีซ่าหลายๆประเทศขอได้ง่ายขึ้นสำหรับพยาบาลในช่วงโควิด
0 Comments